พงศาวดารเขมร ฉบับนักองค์เอง

พงศาวดารเขมร ฉบับนักองค์เอง เป็นพงศาวดารเขมรฉบับที่เก่าแก่ที่สุด[1] พงศาวดารฉบับนี้เรียบเรียงในสมัยสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณ (นักองค์เอง) หรือก่อนนั้น สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณนำมาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเมื่อ พ.ศ. 2339 แล้วจึงโปรดให้หลวงพจนาพิจิตร (เมือง) ขุนสารประเสริฐ ขุนมหาสิทธ นายชํานิโวหาร แปลเป็นภาษาไทย[2] โดยออกชื่อว่า พระพงษาวะดาลเขมน ของเจ้ารามาธิบดีถวาย แต่คราวตีพิมพ์ในประชุมพงศาวดารภาคที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2458 นั้น ออกชื่อว่า พงษาวดารเมืองลแวก แต่ปัจจุบันต้นฉบับภาษาเขมรสูญหายไปแล้ว[3]พงศาวดารเขมร ฉบับนักองค์เอง จับความตั้งแต่ มหาศักราช 1268 (จ.ศ. 708 หรือ พ.ศ. 1889) เมื่อสมเด็จพระมหานิภารเสวยราชสมบัติในพระนครศรีโสทรราชธานี (กรุงยโศธรหรือนครธม) จนถึงแผ่นดินสมเด็จพระศรีโสไทยเสวยราชย์ ณ พระนครหลวง ครั้งนั้นสมเด็จพระศรีโสไทยนั้นมิไว้พระทัยเจ้าพญาธรรมราชาจะให้ฆ่าเสีย เจ้าพญาธรรมราชาก็หนีออกไปซ่องสุมผู้คนยกมารบได้พระนครหลวง สมเด็จพระศรีโสไทยก็หนีเข้ามายังพระนครศรีอยุธยา[4]